ความแตกต่างด้านโครงสร้างกระดูกและจุดเกาะของกล้ามเนื้อ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการดีไซน์การออกกำลังกาย ถึงจำเป็นต้องแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล (Personalized) โดยในหัวข้อนี้จะยกตัวอย่าง
- ระยะที่ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยมีผลมาจากโครงสร้าง
- ตำแหน่ง “จุดเริ่มต้นระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ” ที่แตกต่างกัน
- ตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน
- ประสิทธิภาพการออกแรงของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน
- สัดส่วนทางร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้วิธีการออกกำลังแตกต่างกัน
- ทำไมคนสองคนจึง Squat ไม่เหมือนกัน และรู้สึกถึงกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้งานไม่เหมือนกัน (Squat Proportion)
- เทคนิคบางเทคนิค สามารถใช้ได้ผลกับทุกคนจริงหรือไม่? (J-curve Bench Press)
โดยผู้เขียนตั้งใจให้เกิดความตระหนักถึงอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถส่งผลต่อ การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว และ การจัดการกับแรงที่กระทำจากภายนอกด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน การสังเกต ประเมิน ทดลอง และเคารพในสิ่งที่แต่ละบุคคลมี จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการ Personalization อย่างแท้จริง
Deltoid Point of Attachment
(จุดเกาะกล้ามเนื้อหัวไหล่)
จุดเกาะของกล้ามเนื้อหัวไหล่นั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน
Anterior Deltoid (หัวไหล่ส่วนหน้า) จะมีจุดเกาะที่ กระดูกไหปลาร้า (Clavicle) – Deltoid Tuberosity ที่ต้นแขน
Middle Deltoid (หัวไหล่ส่วนด้านข้าง) จะมีจุดเกาะอยู่ที่ กระดูกส่วน Acromion ของสะบัก – Deltoid Tuberosity ที่ต้นแขน
Rear Deltoid (หัวไหล่ส่วนด้านหลัง)จะมีจุดเกาะอยู่ที่ กระดูกส่วน Spine ของ สะบัก – Deltoid Tuberosity ที่ต้นแขน
Scapular Differences
(ความแตกต่างของสะบักในแต่ละบุคคล)
เมื่อพิจารณาสะบักในรูปภาพ เราจะพบถึงความแตกต่างของโครงสร้าง
ในรูปด้านซ้าย : Acromion ของสะบัก มีตำแหน่งองศาและความยาว ไม่เท่ากัน
ในรูปด้านขวา : Spine of Scapular มีองศาที่เฉียงขึ้นไม่เท่ากัน รวมทั้ง Acromion ที่ระยะการปกคลุม เบ้ากระดูก (Glenoid) ไม่เท่ากัน
Deltoid Differences
(ความแตกต่างของจุดเกาะกล้ามเนื้อ)
เมื่อเราลองหยิบ สะบักที่แตกต่างกันมากที่สุด สองชิ้น มาลองจินตนาการถึงจุดเกาะของกล้ามเนื้อหัวไหล่ทั้งสามหัว จะพบว่า “มีความเป็นไปได้” ที่จะทำให้องศาการจัดเรียงของกล้ามเนื้อหัวไหล่ ไม่เหมือนกันในบุคคลสองคน
รูปซ้าย : หัวไหล่ส่วนด้านข้าง (สีเขียว) ถูกจัดเรียงค่อนไปทางด้านหลัง และหัวไหล่ส่วนหลัง(สีน้ำเงิน) แทบจะไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านข้าง
รูปขวา : หัวไหล่ส่วนด้านข้าง (สีเขียว) ถูกจัดเรียงออกมาด้านข้างตามปกติ และหัวไหล่ส่วนหลัง(สีน้ำเงิน) สามารถมองเห็นได้จากด้านข้าง
Glenohumeral Joint
นอกเหนือไปจากรูปแบบการจัดเรียงของเส้นใยกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันแล้ว โครงสร้างที่แตกต่างกันนั้น ยังสามารถส่งผลต่อระยะการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันด้วย
ในรูป : กระดูกต้นแขนที่อยู่ในเบ้ากระดูก หรือ Glenoid ของสะบัก สังเกตจะเห็นว่า มี ส่วน Acromion เป็นเหมือน “หลังคา” ที่อยู่บนกระดูกต้นแขน
Difference in Range of Motion
(ความแตกต่างของระยะที่สามารถเคลื่อนไหว)
เมื่อเราลองหยิบ สะบักสองชิ้น ที่แตกต่างกัน เพื่อนำกระดูกต้นแขนชิ้นเดียวกันมาใส่ จะพบว่า
ในรูปซ้าย : ระยะการยกแขน (Abduction) นั้นไม่ถูกกีดขวางจาก Acromion ทำให้ น่าจะมีระยะการเคลื่อนไหว(ชูแขน) ที่อิสระมากกว่า
ในรูปขวา : ระยะการยกแขน ก่อนที่จะถูกกีดขวางจาก Acromion มีน้อยกว่า ทำให้น่าจะมีระยะการชูแขนที่อิสระที่น้อยกว่า
Internal Rotation and Torsion
(ระยะการหมุนเข้าและลักษณะกระดูกต้นแขน)
เราลองมาดูความแตกต่างของระยะการบิด (Torsion) ของกระดูกต้นแขนที่ไม่เหมือนกัน สังเกตจากภาพด้านซ้าย กระดูกสองชิ้น ถูกจัดวางตำแหน่งของหัวกระดูก (Head of Humerus) ในองศาเดียวกัน แต่ที่สุดปลายของกระดูก มีการบิด ที่ไม่เท่ากัน
หากเราลองจินตนาการว่า ตำแหน่งของหัวกระดูกต้นแขนของคนสองคนนี้ อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน กระนั้นก็ยังสามารถส่งผลให้ ปลายแขน อยู่ในคนละตำแหน่งได้
Size and Moment Arm
(ขนาดกระดูกส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกแรง)
ความแตกต่างของขนาดของโครงสร้าง ทำให้เกิดคความได้เปรียบทางการออกแรงของกล้ามเนื้อ
เมื่อเราลองสมมติว่า หัวกระดูกต้นแขน มีขนาดที่ไม่เท่ากัน หัวกระดูกชิ้นที่มีเส้นรอบวงใหญ่กว่า หรือมีส่วนโค้ง ที่กว้างกว่า สามารถส่งผลต่อองศาจุดเกาะของกล้ามเนื้อได้
ในรูปวงรีสีแดง แทนจุดเกาะหัวไหล่ (Deltoid Tuberosity)
จากชิ้นด้านขวาเมื่อเทียบกับชิ้นด้านซ้าย ส่วนโค้งที่ทำให้กระดูกกว้างกว่า ส่งผลให้เส้นใยกล้ามเนื้อต้อง “อ้อม” ส่วนที่กว้างกว่านั้น เพื่อพาดไปเกาะจุดเกาะ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการออกแรงดีกว่า (Moment Arm มากกว่า)
Point of Attachment and Moment Arm
(ตำแหน่งจุดเกาะส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกแรง)
หากสมมติว่า จุดเกาะของกล้ามเนื้อ มีตำแหน่งที่แตกต่างกัน แต่กระดูกมีขนาดที่เท่ากันล่ะ?
จากรูปจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งองศาของแนวแรงจากกล้ามเนื้อหัวไหล่นั้นเท่ากัน แต่ในกรณีด้านขวา ที่จุดเกาะ “ใกล้จุดหมุนมากกว่า” จะมีประสิทธิภาพในการออกแรงที่น้อยกว่า (ในทางกลับกันจะได้เปรียบในเรื่องความเร็ว Speed Advantage)
Relative Distance and Speed Advantage
สังเกตุการเปรียบเทียบการเคลื่อนที่ระหว่างลูกบอลสีเหลือง กับ ลูกบอลสีม่วง ที่อยู่บนคานเดียวกัน
สมมติว่าเรากำหนดเวลาการเคลื่อนที่ของคานนี้เป็นเวลา 3 วินาที จะพบว่าในสามวินาทีนี้ ลูกบอลสีม่วง ทำระยะทางไปได้เยอะกว่าลูกบอลสีเหลืองบนคานเดียวกัน และลูกบอลสีม่วงต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่มากกว่าลูกบอลสีเหลือง (ต้องทำระยะทางที่มากกว่าโดยให้เวลาที่เท่ากัน จึงต้องมีความเร็วที่มากกว่า)
ทีนี้เราลองจินตนาการเปรียบเทียบลูกบอลสีเหลือง เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ และ ลูกบอลสีม่วง เป็นปลายแขน จะพบว่า จากจุดเกาะ เมื่อขยับเพียงนิดเดียว ก็สามารถทำให้ปลายแขนของเราเคลื่อนที่เป็นระยะทางที่มากได้ในเวลาที่เท่ากัน และยิ่งจุดเกาะกล้ามเนื้อเข้าใกล้จุดหมุนมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ปลายแขนเคลื่อนที่เร็วขึ้นเท่านั้น
Hips and Femurs Differences
(ความแตกต่าง กระดูกสะโพกและต้นขา)
ความแตกต่างของตำแหน่งเบ้าสะโพก (Hip Socket) ที่มีองศาของเบ้า ไม่เหมือนกัน
รูปซ้าย: เมื่อมองจากด้านหน้า
รูปขวา: เมื่อมองจากด้านบนเฉียงลงมา (สังเกตว่า เราแทบจะไม่เห็นเบ้าของสะโพกชิ้นด้านขวาเลย)
ความแตกต่างของตำแหน่งเบ้าสะโพก ที่มีองศาของเบ้าไม่เหมือนกันเมื่อมองจากด้านข้าง
ซ้าย: เบ้าสะโพก มีองศาชี้ไปทางด้านหน้าของสะโพก
ขวา: เบ้าสะโพก มีองศาชี้ออกไปยังด้านข้างของตัวสะโพก
ความแตกต่างของกระดูกต้นขาด้านซ้าย (Femur) ที่มีองศาการเฉียงของส่วนหัวกระดูก ไม่เหมือนกัน
เมื่อเปรียบเทียบกระดูกด้านขวาและด้านซ้าย จะพบว่ามีคความแตกต่างของการเฉียงถึง 40 องศา ซึ่งสามารถส่งผลต่อระยะการเคลื่อนไหว (Abduction) ที่แตกต่างกัน
ความแตกต่างของกระดูกต้นขาด้านซ้าย (Femur) ที่มีความยาวของส่วนคอ (Neck of Femur) ที่ไม่เท่ากัน
โดยในรูปด้านซ้าย คอกระดูกมีความยาวเป็นสองเท่าของชิ้นด้านขวา รวมถึงความแตกต่างของระยะห่างระหว่าง หัวกระดูก(Head of Femur) กับ ส่วน Greater Trochanter (ซึ่งสามารถส่งผลต่อระยะการเคลื่อนไหว Abduction และ ความเสถียรของข้อต่อสะโพก)
ความแตกต่างขององศาการบิด (Torsion) ของหัวกระดูกต้นขา (Head of Femur)
ในกรณีนี้การจัดวางตำแหน่งจะแตกต่างจาก การบิดของกระดูกต้นแขน ที่เราได้เห็นกันไปแล้วก่อนหน้า
ซึ่งการบิดของกระดูกส่วนต้นแขนนั้น “การจัดวางตำแหน่งของหัวกระดูก” จะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
ส่วนในกรณีนี้ “การจัดวางตำแหน่งท่อนกระดูก” จะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
เราจึงเห็นความแตกต่างขององศา “การบิด” ของหัวกระดูกต้นขาที่แตกต่างกัน
Same ROM Different Positions
(ระยะการเคลื่อนไหวโดยรวมเท่ากัน แต่ตำแหน่งแตกต่างกัน)
หากเราลองจินตนาการสมมติว่า กระดูกต้นขาสองชิ้นนี้ เมื่ออยู่ในเบ้ากระดูกของสะโพกชิ้นเดียวกัน จะมีความแตกต่างกันอย่างไร?
สมมติฐานความสามารถในการ Rotation ของสะโพก
ภาพที่ 1 : เมื่อปลายเท้าอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่องศาการหมุนของสะโพก อยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน (ชิ้นด้านขวามีระยะการหมุนเข้าของข้อสะโพก Internal Rotation ได้อีกมากเมื่อเทียบกับชิ้นด้านซ้าย)
ภาพที่ 2 : เมื่อขยับตำแหน่งองศาการหมุนเข้าของข้อสะโพก ของกระดูกชิ้นด้านขวา ให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับชิ้นด้านซ้าย จะพบว่าปลายเท้า จะอยู่ในทิศทางที่ชี้เข้ามาด้านในลำตัวมากกว่า ชิ้นด้านขวา
จากที่เราได้เห็นตัวอย่างความแตกต่างทางด้านโครงสร้างซึ่งสามารถส่งผลต่อระยะการเคลื่อนไหว ประสิทธิภาพ และลักษณะที่แตกต่างของตำแหน่งกล้ามเนื้อไปแล้ว ในตอนที่ 2 เราจะลองมองภาพที่เป็นองค์รวมมากขึ้น ในด้านความแตกต่างทางสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งสามารถส่งผลต่อการ Squat ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบุคคล
“Different Individuals = Different Executions”